icils2013

    เกี่ยวกับโครงการ ICILS 2013

 

1. โครงการ ICILS คืออะไร
โครงการประเมินผลด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy: ICILS) ซึ่งจัดโดยสมาคมนานาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินผลด้านการศึกษา หรือ The International Association for the Evaluation of Educational Achievement (IEA) เพื่อประเมินผลเกี่ยวกับการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (Grade 8)

2. โครงการ ICILS ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อไร
ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ ICILS เมื่อปี 2556 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก

3. ICILS ประเมินอะไร
ข้อสอบ ICILS ประเมินการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (Computer and Information Literacy) ซึ่งครอบคลุมถึง “ความสามารถของบุคคลในการใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบหาความจริง (investigate) สร้างสรรค์ (create) และติดต่อสื่อสาร (communicate) ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ในสถานที่ทางาน และในชุมชน”

4. กลุ่มตัวอย่างที่ประเมินคือใคร
กลุ่มตัวอย่างการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากทุกสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/ท้องถิ่น) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สาธิต) โดยในปี 2556 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ICILS 2013 จำนวน 198 โรง

5. ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ICILS 2013 มีจำนวน 20 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ ชิลี โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก ฮ่องกง เยอรมนี เกาหลีใต้ ลิธัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัค สโลวีเนีย รัสเซีย ตุรกี และไทย

6. ประเทศไทยได้อะไรจากการเข้าร่วมวิจัยในโครงการ ICILS
ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ ICILS 2013 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียน ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนที่ช่วยส่งเสริมการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียนในประเทศไทยและประเทศที่ร่วมโครงการ  และนำความรู้และข้อมูลข้อสนเทศที่ได้จากการวิจัยมาใช้ในการพิจารณากำหนดแนวทางและนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศให้ได้มาตรฐานและทัดเทียมนานาชาติ

 

 

    ผลการประเมินในโครงการ ICILS 2013

 

          โครงการ ICILS ได้กำหนดให้ค่าคะแนนเฉลี่ยของผลการทดสอบเท่ากับ 500 คะแนน ผลการประเมินพบว่าประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด คือ สาธารณรัฐเช็ค ได้ 553 คะแนน ประเทศที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ ตุรกี ได้ 361 คะแนน ส่วนประเทศไทยได้ 373 คะแนน ซึ่งเป็นอันดับสองจากท้าย รายละเอียดตามตารางที่ 1

          ทั้งนี้ ผลการประเมินพบว่า คะแนนด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียนมีความสัมพันธ์อย่างมากกับค่าดรรชนีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Development Index) ของ
แต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีค่าดรรชนีการพัฒนาด้าน ICT ที่สูง มีแนวโน้มที่ผลคะแนนจะสูง สำหรับประเทศไทยนั้น มีค่าดรรชนีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่ำที่สุด

          นอกจากนี้ ยังพบว่า พื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ (Socioeconomic Background) ของผู้ปกครองมีความสัมพันธ์กับคะแนนด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียน ซึ่งถ้าผู้ปกครองมีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูง มีแนวโน้มที่นักเรียนจะมีผลคะแนนที่สูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยนั้น นักเรียนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 61) มีผู้ปกครองที่มีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งผลการประเมินพบว่านักเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 349 คะแนน ซึ่งต่ำกว่านักเรียนที่มีผู้ปกครองที่มีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับปานกลาง (ร้อยละ 27) และระดับสูง (ร้อยละ 13)  ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 399  และ 445 คะแนน ตามลำดับ

                            ตารางที่ 1 ผลคะแนนด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (Computer and Information Literacy)
                            ของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ

ประเทศ คะแนนเฉลี่ย ICT Development Index (and Country Rank) Gross Domestic Product (GDP)
สาธารณรัฐเช็ค 553 6.40 (34) 23,967
ออสเตรเลีย 542 7.90 (11) 34,548
โปแลนด์ 537 6.31 (37) 18,087
นอร์เวย์ 537 8.13 (6) 46,982
เกาหลีใต้ 536 8.57 (1) 27,541
เยอรมนี 523 7.46 (19) 34,437
สาธารณรัฐสโลวัค 517 6.05 (43) 20,757
รัสเซีย 516 6.19 (40) 14,808
โครเอเชีย 512 6.31 (38) 16,162
สโลวีเนีย 511 6.76 (28) 24,967
ลิธัวเนีย 494 5.88 (44) 16,877
ชิลี 487 5.46 (51) 15,272
ไทย 373 3.54 (95) 7,633
ตุรกี 361 4.64 (69) 13,466

                                 หมายเหตุ คะแนนปรากฏเฉพาะประเทศที่มีข้อมูลครบตามเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

 

                                 

                             ดาวน์โหลดเอกสาร ICILS 

1.เอกสารประกอบการแถลงข่าว ฉบับภาษาไทย
2.เอกสารประกอบการแถลงข่าว ฉบับภาษาอังกฤษ 
3.ไฟล์นำเสนอผลการประเมินในโครงการ 
4.ICILS international report 
5.ICILS 2013 Infographic